อาจารย์หมอหยอง ร่วมถวายความจงรักและภักดี ร่วมเป็นที่ปรึกษาและกรรมการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง
คนเราเมื่อมีโอกาสดี และโอกาสที่จะทำบุญ สร้างกุศล ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป อย่างน่าเสียดาย นี้เป็นคติประจำใจของผม ที่ยึดมาโดยตลอดเวลา หากยังมีกำลัง และความสามารถ ก็พร้อมเสมอที่จะร่วมสร้างกุศล สร้างบุญ เพื่อตอบแทนพระคุณแผ่นดิน และพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
ท่ามกลางเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ยากจะลืมเลือน ภาพที่ประจักษ์ในสายตาของประชาชนทั่วประเทศ และชาวโลกทั่วโลกก็คือพระราชวงศ์ทั่วโลกต่างเสด็จร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมหากษัตริย์แห่งแผ่นดินไทย ถือได้ว่าเป็นวาสนาและเป็นบุญตาสำหรับเราทุกคนชาวไทย ที่มีโอกาสได้เห็นและซาบซึ้งปลาบปลื้มปิติในพระราชพิธีมหามงคลครั้งนี้ เป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น ผมยังได้นำเอาความซาบซึ้งและปลาบปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงไปขยายผลต่อในจังหวัดต่างๆ ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน หรือร่วมบุญร่วมพิธี แม้กระทั่งไปเยือนเพราะเคารพนับถือเป็นส่วนตัวกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ
โดยนำแรงบันดาลใจที่ประทับใจของผม ไปถ่ายทอดและประสานให้จังหวัดจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เพื่อทูลเกล้าฯถวาย และเผยแพร่พระเกียรติคุณของในหลวง ให้ประชาชนในจังหวัดได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อีกครั้ง ตอกย้ำจนถึงพสกนิกรวัยเยาว์ในรุ่นปัจจุบัน ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส และได้เห็นการแสดงเยือนราษฏรของพระองค์ในระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา
เมื่อผมได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำในการประสานงานการจัดสร้างพระราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชชนนี สมเด็จพระพันปีหลวง ณ โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผมเคยเล่าเรียนศึกษาสำเร็จมาจากที่นั้น ก่อนจะสอบเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา ผมก็มีโอกาสพบกับนายชาลี กางอิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง และนายชนะ อินทรสังขนาวิน รองนายกเทศมตรีเทศบาลนครตรัง เมื่อเราทั้งสามคนได้ร่วมพูดคุยกัน ก็เกิดความคิดที่จะจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ แลหลัง..เมืองตรัง ใต้ร่มพระบารมีขึ้นซึ่งในเนื้อหาหนังสือนั้นจะบันทึกการเสด็จเยี่ยมราษฎร์และทรงงานเพื่อช่วยเหลือราษฎร์ทุกครั้งที่ผ่านมา ของในหลวงและพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ มีภาพเก่าที่หาดูได้ยาก ที่สามารถทำให้เราได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดตรัง และการเกิดขึ้นของงานประจำปีประจำจังหวัดต่างๆ
ผมรับหน้าที่ประสานงานกับการส่งหนังสือของพระราชทานพระบรมราชานุญาติเชิญตราสัญลักษณ์ครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีขึ้นบนปกหนังสือ กับสำนักราชเลขาธิการ และการขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์งานพระราชพิธีครองสิริราชสมบัติอันประทับใจยิ่ง มาลงในหนังสือเฉลิมพระเกียรติสิริมงคลฉบับนี้ด้วย ในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ และในฐานะเป็นคนเมืองตรัง ผมจึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้มีส่วนในการทำให้เกิดหนังสือเฉลิมพระเกียรติเล่มนี้ขึ้นมา และจะสามารถจารจารึกอีกยาวนานในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทย และแน่นอนสำหรับพี่น้องคนเมืองตรังทุกคน
หนังสือสวยงามเล่มนี้ ได้สำเร็จเรียบร้อยและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเรียบร้อยแล้ว และแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน
ในเขตเทศบาลนครตรัง และใกล้เคียง ห้องสมุดสถาบันการศึกษา ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ที่ผ่านมา และร่วมจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เสด็จเยือนราษฏร์..เมืองฉะเชิงเทรา ใต้ร่มพระบารมี กับคุณอานนท พรหมนารถ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยราชการที่สนับสนุนในการจัดทำทุกหน่วย
สำหรับที่ฉะเชิงเทรานี้..นอกจากผมจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเมื่อประมาณ ๑๖ ปีที่ผ่านมา ผมก็เป็นกรรมการหลักในการสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ณ ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กองพลทหารราบ ที่ ๑๑ ฉะเชิงเทรา สมัยนั้น พลตรีบัณฑิต มลายอริสูรย์ (ยศในขณะนั้น)เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๑๑
และเมื่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอานนท์ พรหมนารถ ท่านย้ายจากผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มายังฉะเชิงเทรา ผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนท่าน แต่ตอนสมัยที่ท่านอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ผมและท่านก็ได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะพี่น้องชาวอำเภอเหนือคลอง ก็ได้ร่วมกันสร้างพระยูไลฮุ้ดโจ้ว พระพุทธเจ้าทางลัทธิมหายาน น้อมถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บัดนี้สำเร็จเรียบร้อยสวยงามแล้ว ประดิษฐานในมหาเจดีย์ ของศาลเจ้าแห่งอำเภอเหนือคลองที่เก่าแก่ และมีพิธีถือศีลกินเจมาเนิ่นนานหลายร้อยปีมาแล้ว
ผมกับท่านจึงรักใคร่และนับถือกันอย่างมาก เมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมท่าน ด้วยไปถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป ก็เกิดแรงบันดาลใจในการริเริ่มจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เสด็จเยือนราษฏร์ เมืองฉะเชิงเทรา ใต้ร่มพระบารมี ในระยะเวลาอันสั้นงานนี้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานในจังหวัด และบุคคลที่มีจิตศรัทธามหากุศลร่วมกันสนับสนุนในการจัดพิมพ์ นอกจากนั้น ได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนในการประชาสัมพันธ์และดำเนินการจากคุณปัญญา นิรันดร์กุล อย่างเต็มกำลังยิ่ง ทำให้หนังสือสำเร็จอย่างรวดเร็วแบบที่เรียกว่า เกือบจะเอาออกจากเตาไมโครเวฟร้อนๆทีเดียว
หนังสือเฉลิมพระเกียรติเล่มนี้ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ที่ผ่านมา อันเป็นวันที่พระองค์เสด็จไปตัดลูกนิมิต และประกอบพิธีเปิดพระอุโบสถหลังใหม่ของหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ถือได้ว่าหนังสือเฉลิมพระเกียรติเล่มนี้ คู่บุญบารมีกับหลวงพ่อโสธร ในวันเฉลิมฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ที่สวยงาม และสง่างาม สมพระเกียรติยิ่งนัก
และนี้ก็คือผลงานแห่งการได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษา เพื่อสร้างสรรค์งานวรรณกรรมศิลป์ เพื่อตอบแทนพระคุณแผ่นดิน และสามารถจะตกเป็นมรดกทางการเรียนรู้อีกยาวนานของผู้คนในสังคมไทย |